7/6/54

สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี

เอาหล่ะครับได้เวลาเขียนบทความเรื่อง สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี ซะที หลังจากที่ไปเที่ยวน้ำตกและนั่งเรือชมเขื่อนแถมได้ทานปลาเผาอร่อยๆมาแล้ว ที่นี้เราก็กลับมาเริ่มต้นกันที่พระมหาเจดีย์ชัยมงคลกันเลย เอาแบบง่ายๆถ้าท่านยืนอยู่ตรงบันไดด้านนอก (บันไดตรงที่เราจะเดินเข้าประตูเพื่อจะเข้าชมพระมหาเจดีย์) ถ้าท่านยืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ท่านก็จะเห็นเส้นทางที่จะไป สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี พอดีเลยครับ ถนนเส้นนี้ระยะทางจากหน้าพระมหาเจดีย์ถึงสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีไปตามสันหลังเขาเขียวระยะทางน่าจะประมาณ 9 กม. มีช่วงนึงผมเคยเดินด้วยเท้านี่แหล่ะไปเที่ยวกับเพื่อนเริ่มต้นเดินตรงหน้าพระมหาเจดีย์ (ตอนนั้นพระมหาเจดีย์กำลังเริ่มก่อสร้างใหม่ๆกำลังปรับพื้นที่) ชมนกชมต้นไม้ถ่ายรูปเดินไปเรื่อยๆจนถึงสวนพฤกษศาสตร์ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน สภาพของป่ายังอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ที่สังเกตุเห็นมี ต้นมะค่าโมง ต้นกะบาก ต้นยาง ต้นแดง ต้นจิก ต้นรัง ต้นตะเคียน และอื่นๆอีกมากครับ

   ถ้าท่านเดินทางออกมาจากจุดเริ่มต้น ประมาณ 100-200 เมตร ถ้าท่านสังเกตุท่านจะเห็นถนนย่อยแยกออกเป็นซอยทั้งด้านซ้ายและขวาท่านจะเห็นกุฏิหลังเล็กๆห่างกันออกไปทีละ 100-200 เมตร กุฏิต่างๆจะปลูกสร้างเรียงรายไปตามถนนเส้นนี้เป็นระยะน่าจะประมาณหลายร้อยหลังได้ คงจะสร้างไว้สำหรับให้พระสายธรรมยุตที่มาจำพรรษาที่ปลีกวิเวกนั่งวิปัสนากรรมฐาน (ปัจจุบันผมไม่แน่ใจว่าจะเหลือกี่หลัง) แต่ก่อนเส้นทางนี้บางช่วงจะเป็นดินทรายสลับกับหินและดินแข็ง ทุกวันนี้ถนนทำดีกว่าเดิมแล้ว สองข้างทางถ้าท่านสังเกตุ ท่านจะเห็นค้างคาวห้อยหัวนอนตามต้นไม้พุ่มไม่ใหญ่และต้นไม่ที่ไม่สูงเท่าไหร่ จะเห็นห้อยหัวลงนอนเรียงกันตามกิ่งไม้กิ่งหล่ะ 40-60 ตัว ดูแล้วก็เพลินดีเหมือนกันนานๆจะได้เห็นแบบนี้ที

  ตามเส้นทางที่จะไปเที่ยวสวนนี้ ก่อนที่จะไปถึงสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี ก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวหลายที่นะครับแต่คนส่วนมากไม่ค่อยพูดถึง สวยๆทั้งนั้น อาทิเช่น ผาน้ำจ้าก สวยมากมองจากตรงหน้าผาแห่งนี้จะเห็นถึง วัดภูจ้อก้อ (วัดของหลวงปู่หล้าอริยสงฆ์สายธรรมยุตที่น่านับถือ) ถ้าท่านมีเวลาก็แวะเที่ยวผาน้ำจ้ากด้วยนะครับ นอกจากนั้นก็ยังมีที่เที่ยวอีก 2-3 แห่ง ตามเส้นทางจะมีป้ายบอกชื่อสถานที่เที่ยวอยู่ครับ ฝอยมาตั้งนานยังไม่ถึงสวนพฤกษศาตร์วรรณคดี(จั๊กเทือเลย..555) เข้าเรื่องซะที

สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี

 ประวัติความเป็นมา   
สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี ตั้งอยู่ที่ตำบล ผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด  ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2530 โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงพระเจริญ พระชนมพรรษา ครบ 60 พรรษา ที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าดงมะอี่ อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,000 ไร่ เป็นเนื้อที่สำหรับ ปลูกต้นไม้แบ่งตามวรรณคดี เช่น เรื่องพระเวสสัดร ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเบงพ่าย ลานพุทธประวัติ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรแยกตามสรรพคุณ บริเวณสวนมีสภาพภูมิประเทศสวยงาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้โอนให้กรมป่าไม้ดูแลรักษาต่อ ในปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช   
สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี เป็นแหล่งรวบรวมพรรณพืชที่มีชีวิต ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นหรือนำมาปลูกจากต่างถิ่น เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพืช ภายในสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีมีการปลูกพืชอย่างมีระบบเป็นหมวดหมู่ ทั้งด้านอนุกรมวิธานและการใช้ประโยชน์ มีการปลูกเพิ่มจำนวนชนิดพืชอยู่ตลอดเวลา พืชที่รวบรวมไว้นั้นมีทั้งพืชถิ่นเดียว พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ เพื่อการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านพืชอย่างยั่งยืน สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดียังเปิดกว้างในการศึกษาหาความรู้แก่สาธารณชน เป็นดุจดังพิพิธภัณฑ์ให้แก่ผู้ที่มาเยือน ได้ทุกเพศทุกวันและทุกระดับความรู้ เพื่อจะเรียนรู้และชื่นชมต่อธรรมชาติสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีมีความสำคัญในแง่ของการ อนุรักษ์พันธุ์พืช เป็นสิ่งจำเป็นที่จะให้คนท้องถิ่นได้รู้จักสังคมพืชและพืชประจำถิ่น เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์ของพืชประจำถิ่นที่จะพัฒนาท้องถิ่นได้ในอนาคต สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีจึงจัดได้ว่าเป็นประตูสู่วิทยาศาสตร์ การศึกษาและการอนุรักษ์ในอาณาจักรพืช

การจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี พยายามเลือกพื้นที่ป่าสงวนที่มีหย่อมป่าดั่งเดิมประกอบด้วยไม้ใหญ่น้อยเหลือ อยู่บ้าง ทั้งนี้เพื่อประหยัดงบประมาณ ในการลงทุนจัดตั้งในระยะแรก ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งนี้จะสูงมาก ถ้าไปเลือกพื้นที่โล่งเตียนปราศจากพรรณพืช ภายในสวนพฤกษศาสตร์มีการจัดปลูกต้นไม้ ไม้พุ่ม ไม้เถา พืชล้มลุก แทรกลงในหย่อมป่าเดิมให้เป็นหมวดหมู่ ตามวงศ์ สกุลต่างๆ หรือจัดปลูกพรรณไม้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์ ได้แก่ แปลงพืชสมุนไพร แปลงปาล์ม แปลงไทร-มะเดื่อ แปลงไม้สน แปลงไผ่ แปลงหวาย เป็นต้น พร้อมติดป้ายชื่อพฤกษศาสตร์วรรณคดีและถิ่นกำเนิดของพืชไว้อย่างเด่นชัด

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ตั้งอยู่เชิงเทือกเขาภูเขียว ระดับความสูง 340-400 เมตร สภาพป็นป่าเบญจพรรณและป่าที่กำลังฟื้นสภาพ ดินเป็นดินทรายชุดโคราช พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็นพรรณไม้ในป่าเบญจพรรณ ได้แก่ ตะเคียนมอง เขลง มะหาด พะยูง คอแลน มะค่า ยาง แดง จิก รัง ประดู่ ฯลฯ

การคมนาคม

สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี ตั้งอยู่ที่ตำบล ผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ไป ตามถนนสายจังหวัด ร้อยเอ็ด-อำเภอหนองพอก ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวจังหวัด อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 21 กม. และอยู่ห่างจากตัว จังหวัดประมาณ 94 กม.

 เป็นอย่างไรครับท่านอ่านบทความมาถึงบรรทัดจะบรรทัดสุดท้ายแล้ว เมื่อยสายตาไหม ผมหวังว่าบทความนี้อาจจะมีประโยชน์และเพลิดเพลินได้บ้างนะคับ









 




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น